ความเปลี่ยนแปลงที่เรามักพบเจอเมื่ออายุมากขึ้น
เมื่อร่างกายเสื่อมสภาพลง ร่างกายของใครหลายคนก็อาจเริ่มแสดงอาการต่าง ๆ ออกมา เช่น บางคนมักมีโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้น เมื่ออายุเข้าใกล้เลขสาม และอาการเจ็บป่วยก็มักจะแสดงอาการชัดมากขึ้น เมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งอาการที่เรามักจะพบเจอ มีดังนี้
- ข้อต่อเกิดการสึกหรอ ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง กระดูกไม่แข็งแรง
- ขนาดของมัดกล้ามเนื้อเล็กลง ส่งผลให้ความแข็งแรงลดลง
- จำนวนของเส้นใยในกล้ามเนื้อน้อยลง ส่งผลให้พละกำลังน้อยลง
- ความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อลดลง โอกาสเกิดการบาดเจ็บเพิ่มมากขึ้น
- ความทนทานของกล้ามเนื้อลดลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพการใช้งานกล้ามเนื้อในระยะเวลานานแย่ลง
- ความสามารถของระบบหัวใจและการหายใจต่ำลง ทำให้ร่างกายรู้สึกเหนื่อยง่าย เมื่อมีการใช้งานนาน ๆ
- ระดับไขมันในร่างกายเพิ่มมากขึ้น เสี่ยงต่อโรคร้ายที่ตามมาได้ เช่น ไขมันอุดตันในเส้นเลือด, ความดัน, เบาหวาน และโรคอื่น ๆ เป็นต้น
- ปัญหาทางสายตาที่พร่ามัว หรืออาการอื่น ๆ เช่น สายตาสั้น สายตายาว บางคนหนักหน่อยก็อาจเป็นต้อได้ด้วย
การออกกำลังกายช่วยพัฒนาความสามารถของร่างกายส่วนใดบ้าง?
1. ความสามารถในการเคลื่อนไหวของข้อต่อ (Mobility)
การออกกำลังกายนอกจากจะช่วยฝึกการเคลื่อนไหวของข้อต่อแต่ละส่วน เช่น ช่วงเข่า, คอ, หลัง หรือส่วนอื่น ๆ ให้ทำงานได้เป็นอย่างดีแล้ว ก็ยังช่วยให้ข้อต่อทำงานสอดคล้องกับกล้ามเนื้อด้วย โดยการออกกำลังกายที่แนะนำ คือ โยคะ, พิลาทิส, ว่ายน้ำ, ท่าสควอชพิงกำแพง เป็นต้น
2. ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (Strength)
การออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสามารถทำได้หลายรูปแบบ โดยอาจจะเริ่มจากการเวทเทรนนิ่งหรือออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน เพื่อเป็นการสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงและให้ระบบเผาผลาญของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น อีกทั้งยังส่งผลให้ร่างกายมีการเผาผลาญไขมันได้ดีด้วย
3. ความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ (Flexibility)
การออกกำลังกายในรูปแบบของการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ช่วยลดโอกาสเกิดการบาดเจ็บจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ โดยการออกกำลังกายเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับร่างกายทำได้ง่ายมาก ด้วยการยืดเหยียดร่างกายเบา ๆ และมีการวอร์มร่างกายควบคู่กันไปอย่างสม่ำเสมอด้วย เช่น การวิ่ง การเดิน หรือการออกกำลังกายแบบอื่น ๆ
4. การทรงตัว (Balance)
การออกกำลังกายแบบทรงตัวเป็นอีกส่วนที่สำคัญสำหรับผู้ที่เริ่มมีอายุที่สูงขึ้น โดยเราสามารถออกกำลังกายได้หลายวิธี เช่น โยคะ, ไทเก็ก, ไทชิ, ชี่กง เป็นต้น สามารถฝึกได้ทุกวัน และวันละหลาย ๆ ครั้งตามความสามารถและความเหมาะสมของร่างกาย
5. ความทนทานของหัวใจและระบบหายใจ (Aerobic Capacity)
เมื่ออายุเริ่มมากขึ้น ประสิทธิภาพในการทำกิจกรรมจะลดลง คุณจึงควรบริหารร่างกายเพื่อให้สามารถทำกิจกรรมได้แบบต่อเนื่อง ด้วยการออกกำลังกายแบบง่าย ๆ เช่น เดิน, เดินเร็ว, วิ่งเหยาะ ๆ หรือกิจกรรมเต้นแอโรบิค เพื่อให้หัวใจ ปอด ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบหายใจทำงานได้ดีและแข็งแรงมากขึ้น อีกทั้งยังลดโอกาสการเกิดโรคต่าง ๆ อย่าง เบาหวาน ความดัน และคอเลสเตอรอลสูงอีกด้วย
คำแนะนำการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ
เป้าหมายการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นออกกำลังกายเพื่อให้ผู้สูงอายุได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ดีและคงสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นการออกกำลังกายสำหรับผู้ที่มีอายุมากขึ้นก็ควรให้สอดคล้องกับกิจกรรมที่ต้องการพัฒนา เช่น
- การเดินยกของที่ไม่หนักจนเกินไป
- การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
- การลุก-นั่งขณะเข้าห้องน้ำ
- หรือกิจกรรมอื่น ๆ